อุปกรณ์กางเต็นท์ เช็กลิสต์ 20 อุปกรณ์กางเต็นท์ ที่คุณต้องมี
อุปกรณ์กางเต็นท์ อุปกรณ์กางเต็นท์ที่จำเป็น ประกอบด้วย เครื่องนอน, อุปกรณ์ประกอบอาหาร และอุปกรณ์ให้แสงสว่าง ซึ่งมีขายในร้านอุปกรณ์เดินป่า หรือสั่งซื้อจากร้านออนไลน์ โดยปัจจุบันการออกแคมป์นั้นสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ ก็เก็บอุปกรณ์กางเต็นท์ได้ครบ
แนะนำ 20 อุปกรณ์แคมปิ้ง มีอะไรบ้าง
อุปกรณ์กางเต็นท์ และที่กำบังแดด
1. เต็นท์
เต็นท์มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งเต็นท์ผ้าใบ เต็นท์แคนวาส และอื่นๆ การเลือกเต็นท์ต้องคำนึงถึงขนาดและการใช้สอย รวมถึงสภาพอากาศที่ต้องเผชิญ ทั้งลมและฝน ดังนั้นต้องเลือกที่แข็งแรงและยึดง่าย เลือกเต็นท์จากจำนวนสมาชิก เช่น เต็นท์นอน 2, 4 และ 6 คน ตัวอย่างประเภทของเต็นท์ที่มีจำหน่าย ได้แก่ เต็นท์สปริง, เต็นท์โยน, เต็นท์กางออโต้ และ เต็นท์กางเร็ว มีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น
2. ผ้ายางปูรองเต็นท์ กราวนด์ชีต และฟลายชีต
ผ้ายางปูรองเต็นท์ หรือ กราวนด์ชีต (Ground Sheet) มีไว้เพื่อปรับระดับผิวดินกับเต็นท์ในขณะที่คุณพักผ่อน ต้องตรวจสอบพื้นเต็นท์ไม่ให้ฉีกขาด และควรใช้ผ้ายางปูรองเต็นท์ (หรือเรียกว่าผ้าใบรองพื้นเต็นท์) เพื่อปรับระดับพื้นให้นั่งหรือนอนได้สบาย นอกจากนี้ควรเลือกฟลายชีตให้มีความกว้างเหมาะกับพื้นที่ใช้สอยของสมาชิกผู้ร่วมแคมป์ด้วย ควรตรวจสอบให้มีสภาพพร้อมใช้งาน บังแดด บังฝนได้
3. ชุดสมอบก หรือหมุดตอกเต็นท์
ชุดเชือกและชุดสมอบก เป็นอุปกรณ์กางเต็นท์ที่มีมาครบชุดตั้งแต่ซื้อ แต่บางครั้งระหว่างใช้งานเกิดชำรุด หรือสูญหาย ดังนั้นควรมีชุดสมอบกสำรองติดไว้ เมื่อต้องออกทริปเดินทางไกล ต้องเลือกขนาดที่มีขอเกี่ยวขนาดใหญ่พอที่จะยึดเต็นท์ได้แข็งแรงด้วย
ชุดเครื่องนอนสนาม
4. ถุงนอน
ถุงนอนมีความจำเป็นกับการรักษาอุณหภูมิของร่างกายเมื่อนอนหลับ และควรเลือกที่สามารถให้ความอบอุ่นได้อย่างพอดี ปัจจุบันมีถุงนอนสำหรับออกแคมป์ที่ขนาดเล็กกะทัดรัด ทำจากวัสดุที่พับเก็บง่ายให้เลือก
5. ที่นอนเป่าลม หรือเตียงผ้าใบ
บางฤดูกาลมีฝนตกบ่อย ดินที่ใต้เต็นท์อาจมีความชื้นและน้ำซึมออกมาในตอนกลางคืนที่เรานอนหลับ ชาวแคมป์จึงนิยมเตียงผ้าใบ หรือเตียงนอนเป่าลมที่ยกพื้นเตียงขึ้นมาสูงจากพื้นดิน เพื่อให้นอนหลับสบายขึ้น แต่หากมีเตียงเป่าลมแล้วก็ต้องเตรียมเครื่องสูบลมไปด้วย
เฟอร์นิเจอร์ตั้งแคมป์สำหรับวางสัมภาระ
6. โต๊ะปิกนิก
โต๊ะปิกนิกเป็นอุปกรณ์สำคัญ ใช้วางของและจัดโต๊ะอาหาร แต่ควรเลือกที่เหมาะสมกับน้ำหนักของที่วาง และมีข้อต่อที่แข็งแรง เลือกโต๊ะปิกนิกที่จัดเก็บทำความสะอาดง่าย
7. เก้าอี้พับ
เก้าอี้ปิกนิก หรือเก้าอี้พับ เป็นอุปกรณ์ที่ควรรองรับน้ำหนักของผู้นั่งได้ และเก็บง่าย ไม่ควรเลือกที่น้ำหนักเบา กะทัดรัด เพียงอย่างเดียว และควรดูคุณสมบัติวัสดุที่ใช้ ต้องมีความแข็งแรงสูง
8. ตู้เก็บของพับได้
ในบางทริปที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หลายชิ้น ก็ควรจะมีตู้เก็บของเพื่อแยกสิ่งของจำเป็นต่างๆ ให้หยิบใช้ง่าย หรือบางท่านเลือกใช้กล่องเพื่อจัดวางสิ่งของ แต่อุปกรณ์บางอย่างต้องวางเหนือพื้นเพื่อป้องกันความชื้นและแมลง ต้องเลือกตู้พับ เพื่อยกสิ่งของให้พ้นจากระดับของพื้น
อุปกรณ์ทำอาหาร
9. แก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ
เมื่อต้องออกเดินทาง หากมีกระติกน้ำที่หมุนพร้อมดื่ม หรือมีแก้วพกพา จะช่วยประหยัดพื้นที่และสะดวกมากขึ้น เช่น กระบอกน้ำเก็บความเย็น ปัจจุบันมีแก้วเก็บความเย็นช่วยรักษาอุณหภูมิของเครื่องดื่มในนานขึ้นอีกด้วย สะดวกต่อการเดินทาง
10. กระติกเก็บความเย็น
เมื่อออกแคมป์ ชาวแคมป์มักจะเลือกทำอาหารรับประทานเอง การเก็บเนื้อสัตว์สดๆ ก็ควรเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เย็น เมื่อถึงจุดหมาย เนื้อเหล่านี้จะได้ไม่เสียหาย หรือมีกระติกเก็บความเย็นไว้ใส่น้ำแข็ง แช่เนื้อสัตว์ที่ซื้อระหว่างแวะพื้นที่ต่างๆ จะได้ของสดวันต่อวัน เหมือนมีตู้เย็นไปด้วย
11. จาน ชาม หม้อ และ กระทะปิกนิก
อุปกรณ์ประกอบอาหาร จำพวกหม้อ กระทะ เพื่อใช้สำหรับ ต้ม ผัด นั้นจำเป็นต่อชาวแคมป์อย่างยิ่ง เพื่อใช้ปรุงอาหารให้สุก รวมถึง จาน ชาม ช้อน ส้อม แบบพกพาที่ควรพกไปด้วย
12. เตาแก๊สปิกนิก
ปัจจุบันชาวแคมป์มือใหม่นิยมเมนูหมูกระทะ เพราะเป็นเมนูทำง่าย ใส่ผัก ใส่เนื้อ เตรียมของไม่ยากก็ได้กินในเวลารวดเร็ว ถูกปากสมาชิกแคมป์ทุกเพศทุกวัย หรือหากต้องการทำเมนูอร่อยๆ ก็ใช้เตาแก๊สปิกนิกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย พกพาทำได้หลายมื้อ และแวะเติมแก๊สได้ตามจังหวัดต่างๆ อีกด้วย ประหยัดค่าเชื้อเพลิงเป็นอย่างดี หรือเลือกใช้เป็นเตาแก๊สปิกนิกกระป๋อง แบบใช้งานครั้งเดียว
อุปกรณ์ให้แสงสว่าง
13. ไฟแช็กเดินป่า
ไฟแช็กเป็นสิ่งสำคัญ เป็นอุปกรณ์จุดไฟใช้สำหรับการตั้งแคมป์ เช่น การประกอบอาหาร และจุดไฟให้ความสว่าง ไฟแช็กเดินป่าแตกต่างจากไฟแช็กทั่วไปตรงที่จุดไฟได้เร็วกว่า และใช้งานได้นาน ยกตัวอย่างเช่น ไฟแช็กฟู่ เป็นอุปกรณ์แคมปิ้งยอดนิยม
14. ไฟฉายแรงสูง ตะเกียง หรือ โคมไฟ
เมื่อเราเดินทางไปพักตามจุดตั้งแคมป์ต่างๆ บางแห่งไม่มีไฟในตอนกลางคืน ดังนั้นควรเตรียมไฟฉาย หรือตะเกียงไปด้วย จะเลือกเป็นตะเกียงน้ำมันหรือไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับความสะดวก และสามารถใช้ตกแต่งเต็นท์สร้างบรรยากาศสวยๆ ได้อีกด้วย ไฟฉายที่นิยมคือ ไฟฉายแรงสูง
15. ถ่านไฟฉาย หรือ แบตเตอรี่สำรองไฟ
ปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์เก็บไฟฟ้าสำหรับใช้งานชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์ที่ชาร์จไฟด้วยสาย USB ได้สะดวก และหากพกไฟฉาย LED หรืออุปกรณ์ที่ต้องใส่ถ่านไฟฉาย ก็อย่าลืมเตรียมถ่านไฟฉายไว้ด้วย เพื่อป้องกันถ่านหมดระหว่างทาง
อุปกรณ์เบ็ดเตล็ด
16. เครื่องสูบลมไฟฟ้า
ชาวแคมป์ที่เลือกเครื่องสูบลมไฟฟ้า ก็อาจจะมีอุปกรณ์ที่ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น หมอนเป่าลม เก้าอี้เป่าลม ที่นอนเป่าลม เพื่อให้คุ้มค่ากับการใช้งาน
17. ฝักบัวอาบน้ำแบบพกพา
ในบางครั้งการออกทริปต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่มีห้องน้ำให้เข้า มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ฝักบัวอาบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพา” บรรจุน้ำ 8 ลิตรขึ้นไป เพื่อให้คุณซักล้าง ทำความสะอาดสิ่งของ หรือชำระร่างกายได้ โดยใช้แรงดันจากพลังงานแสงอาทิตย์ สะดวกต่อการเดินทาง
18. ค้อนสนาม และ มีดสนาม
บางพื้นที่ที่เราเลือกกางเต็นท์ มีก้อนหิน หรือวัชพืช เป็นอุปสรรคต่อการตอกหมุดกางเต็นท์ ดังนั้นควรมีอุปกรณ์ที่ช่วยจัดการเคลียร์พื้นที่เพื่อกางเต็นท์อย่าง ค้อนสนาม และ มีดสนาม ติดไปด้วย จะได้ช่วยทุ่นแรงในการกางเต็นท์ให้สะดวกยิ่งขึ้น
19. ยากันยุง
อุปกรณ์กันยุงและแมลง ควรใช้ยากันยุงแบบทาผิว และยากันยุงแบบจุด แต่ควรจุดให้ห่างไกลจากเต็นท์เพื่อป้องกันอัคคีภัย
20. ยาสามัญ เช่น ยาหม่อง
เหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ควรเตรียมอุปกรณ์ยาสามัญประจำบ้านสำหรับพกพา เช่น แอลกอฮอล์, อุปกรณ์ล้างแผล, ยาแก้ปวด และ ยาหม่อง เพื่อปฐมพยาบาลกรณีฉุกเฉินก่อน
แหล่งข้อมูล : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1936756